จังหวัดเชียงราย

จังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย เป็นที่ตั้งของเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคก่อตั้งอาณาจักรล้านนา เช่น เมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองเชียงของ เมืองเธริง หรือ เมืองเทิง เชียงรายเดิมก่อน"ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่" สมัยพระเจ้ากาวิละ ชนชาติที่เป็นต้นกำเนิดของคนเชียงรายดั้งเดิม (อาจรวมถึงคนในภาคเหนือทั้งหมด) ก่อนมีแคว้นโยนกซึ่งเป็นรัฐของชาวไทยวน หรือที่เรียกว่าคนเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ไท-กะได หรือ ตระกูลภาษาไท-กะได ก็คือชนชาติจีนแถบมณฑลยูนนาน ที่อพยพลงมาตั้งรกรากนั่นเอง ได้แตกเป็นกลุ่มหลายกลุ่มชนเผ่า จึงไม่แปลกที่คนเมืองจะมีพื้นฐานรากเหง้าเป็นคนจีนยูนนาน ปัจจุบันจังหวัดเชียงรายแบ่งการปกครองออกเป็น 18 อำเภอ มีแม่น้ำกก แม่น้ำอิง และแม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำสายสำคัญ ทำเลที่ตั้งของจังหวัดเชียงรายอยู่บริเวณรอยต่อระหว่าง 3 ประเทศ คือ ประเทศไทย ประเทศลาว และประเทศพม่า หรือรู้จักกันในนามของดินแดนสามเหลี่ยมทองคำที่เป็นแหล่งผลิตฝิ่นที่สำคัญของโลก ปัจจุบัน จังหวัดเชียงรายได้รับความสนใจในฐานะประตูสู่พม่า ลาว และจีนตอนใต้ ผ่านทางหลวงเอเชียสาย 2 และทางหลวงเอเชียสาย 3
     จังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนาแต่โบราณกาลประมาณ 750 ปีที่ผ่านมา มีอายุเก่าแก่กว่าจังหวัดเชียงใหม่ไปโดยประมาณ 50 กว่าปี มี"คำเมือง" เป็นภาษาท้องถิ่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งด้านศิลปะ ประเพณีวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในรูปแบบล้านนา ไทลื้อ ไทใหญ่ ไทเขิน จากสิบสอบปันนาผสมผสาน เข้าด้วยกัน และมีแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นจำนวนมาก ซึ่งในอนาคต จังหวัดเชียงราย กำลังพิจารณาวางแผนโครงการวางผังเมืองเป็นนครสร้างสรรค์ และ ถ้าเป็นไปได้ จังหวัดเชียงรายอาจจะกำลังพิจารณาสมัครเข้าเป็นนครสร้างสรรค์ของยูเนสโก รองถัดมาจากจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำปาง ด้วยเช่นกัน

15 สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย


1. ไร่บุญรอด 
สิงห์ ปาร์ค (Singha Park) หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่า ไร่บุญรอด ตั้งอยู่ริมถนนสายเด่นห้า-ดงมะดะ อำเภอเมือง ห่างจากเขตชุมชนเมืองเชียงราย ประมาณ 9 กิโลเมตร ในพื้นที่ประมาณ 8,000 ไร่ ครอบคลุม 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลดอยฮาง ตำบลรอบเวียง ตำบลป่าอ้อดอนชัย และตำบลแม่กรณ์ ความสูงของพื้นที่เฉลี่ย 450 เมตร เหนือจากระดับน้ำทะเล ในฤดูหนาวอากาศค่อนข้างเย็นสบาย

สภาพของพื้นที่โดยทั่ว ๆ ไปเป็นที่ลาด-เนินเขา มีภูเขาเล็ก ๆ พื้นที่มีความลาดเทปานกลาง เป็นพื้นที่เพาะปลูกพื้นหลากหลายชนิด เช่น ชาอู่หลงสายพันธุ์จินซวน (Jin Xuan) หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ ชาอู่หลงเบอร์ 12 เป็นชาสายพันธุ์ไต้หวัน ปลูกบนพื้นที่กว่า 600 ไร่ จำนวนกว่า 761,000 ต้น พื้นที่ปลูกยางพารากว่า 2,700 ไร่ พุทราพันธุ์ซื่อหมี่ กว่า 100 ไร่, สตรอว์เบอร์รี อีกหนึ่งสุดยอดที่มาพร้อมลมหนาว ซึ่งที่ไร่บุญรอดจะปลูกสตรอว์เบอร์รีในพื้นที่ 4 ไร่ สายพันธุ์พระราชทาน 80 เป็นเกษตรกรรมผสมผสาน หมดฤดูกาลจะปลูกแคนตาลูปและมะเขือเทศพันธุ์เลื้อย โดยสตรอว์เบอร์รีจะให้ผลผลิตมกราคม-กุมภาพันธ์ และพืชผักผลไม้เมืองหนาวอีกหลากหลายชนิด

2. พระธาตุดอยตุง
พระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 17.5 บนทางหลวงหมายเลข 1149 เป็นที่บรรจุพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้า นำมาจากมัธยมประเทศ นับเป็นครั้งแรกที่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ได้มาประดิษฐานที่ล้านนาไทย เมื่อก่อสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนี้ ได้ทำธงตะขาบ (ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ตุง) ใหญ่ยาวถึงพันวา ปักไว้บนยอดดอย ถ้าหากปลายธงปลิวไปไกลถึงเมืองไหน ก็จะกำหนดเป็นฐานพระสถูป เหตุนี้ดอยซึ่งเป็นที่ประดิษฐานปฐมเจดีย์แห่งล้านนาไทย จึงปรากฏนามว่า ดอยตุง

ทั้งนี้ พระธาตุดอยตุงเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ เมื่อถึงเทศกาลนมัสการพระธาตุดอยตุงจะมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและเพื่อนบ้านจากประเทศใกล้เคียง เช่น ชาวเชียงตุงในรัฐฉาน สหภาพพม่า ชาวหลวงพระบาง เวียงจันทน์ เดินทางเข้ามานมัสการทุกปี

3. พระตำหนักดอยตุงและสวนแม่ฟ้าหลวง
พระตำหนักดอยตุง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง ห่างจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ 60 กิโลเมตร พระตำหนักดอยตุงเคยเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานเพื่อทรงงานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีรูปทรงผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนากับชาเลย์ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีการแกะสลักไม้ตามกาแล เชิงชายและขอบหน้าต่างเป็นลวดลายต่าง ๆ โดยฝีมือช่างชาวเหนือ รอบ ๆ พระตำหนักมีสวนดอกไม้หลากพันธุ์ หลายสี ให้ความสวยงามสดชื่น โดยเฉพาะในฤดูหนาวจะเห็นหมอกจาง ๆ บริเวณยอดเขารอบพระตำหนัก มีเจ้าหน้าที่นำชมเป็นรอบ ๆ ละ 20 นาที เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.00-17.00 น. ค่าเข้าชม 90 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0 5376 7015-7 หรือ www.doitung.org

4. วัดร่องขุ่น
วัดร่องขุ่น อยู่ในท้องที่ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง ออกแบบและก่อสร้างโดย อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เมื่อ พ.ศ. 2540 โดยบนพื้นที่เดิมของวัด 3 ไร่ และขยายออกเป็น 12 ไร่ พระอุโบสถสีขาวตกแต่งด้วยลวดลายกระจกสีเงินแวววาว เป็นเชิงชั้นลดหลั่นกันไป หน้าบันประดับด้วยพญานาค ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถและห้องแสดงภาพวาดน่าสนใจมาก เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น. โทรศัพท์ 0 5367 3579 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วัดร่องขุ่น.com

5. ดอยแม่สลอง
ดอยแม่สลอง เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านสันติคิรี เดิมชื่อ บ้านแม่สลองนอก เป็นชุมชนผู้อพยพจากกองพล 93 จากสหภาพพม่าเข้ามาในเขตไทย จำนวนสองกองพัน คือ กองพันที่ 3 เข้ามาอยู่ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และกองพันที่ 5 อยู่ที่บ้านแม่สลองนอก ตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ในเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ดอกนางพญาเสือโคร่ง ซึ่งเป็นซากุระพันธุ์ที่เล็กที่สุด สีชมพูอมขาวจะบานสะพรั่งตลอดแนวทางขึ้นดอยแม่สลอง เป็นพันธุ์ไม้ที่หาชมได้ยากในเมืองไทย เพราะเจริญเติบโตอยู่แต่เฉพาะในภูมิอากาศหนาวจัดเท่านั้น

6. ดอยวาวี
ดอยวาวี เป็นชุมชนขนใหญ่ของชาวจีนฮ่อ กองพล 93 ซึ่งอพยพเข้ามาตั้งหลักปักฐานราว 50 ปีมาแล้ว ยึดอาชีพปลูกชาและผลไม้ท่ามกลางบรรยากาศอันสงบเงียบและทิวทัศน์งามของดอยสูงเช่นเดียวกับชุมชนดอยแม่สลอง แม้หมู่บ้านจะมีขนาดเล็ก แต่ผู้มาเยือนจะได้สัมผัสกลิ่นอายชุมชนชาวจีนอันเรียบง่าย ราวกับอยู่ทางแถบยูนนานตอนใต้ของจีน ขณะที่พ้นหมู่บ้านออกไปบนดอยก็เขียวขจีด้วยไร่ชาที่ลดหลั่นตามลาดเขา ช่วยประดับทิวทัศน์ชุมชนและเทือกดอยให้งดงามชวนมอง ใกล้กับดอยวาวีมีจุดชมทะเลหมอกอยู่บน “ดอยกาดผี” ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของอำเภอแม่สรวย เมื่อขึ้นไปยืนที่ชะง่อนผาสูง 1,500 เมตร จะสามารถมองเห็นทะเลหมอกหนาทึบเต็มหุบเขา พร้อมกับภาพอลังการของขุนเขาสลับซับซ้อนตามแนวเทือกดอยช้าง ซึ่งดอยกาดผีอยู่ห่างจากดอยวาวีประมาณ 20 กิโลเมตร ตามเส้นทางค่อนข้างทุรกันดาร ระหว่างทางยังผ่านหมู่บ้านชาวอ่าข่าและเย้า

สถานที่น่าแวะ เช่น ดอยช้าง เป็นที่ตั้งสถานีวิจัยเกษตรที่สูงและหมู่บ้านขาวเขา มีแปลงปลูกผลไม้เมืองหนาวให้เที่ยวชม เช่น เกาลัด บ๊วย ท้อ พลับ พลัม ฯลฯ และไร่กาแฟอาราบิก้า โดยสามารถลองชิมกาแฟสดได้ด้วย ส่วนสินค้าน่าซื้อก็มีทั้งชาอู่หลง ซึ่งชาวจีนฮ่อวาวีนำชาพันธุ์ชิงชิงและชาเบอร์ 12 มาปลูกเพื่อผลิตเป็นชาอู่หลงคุณภาพดีไม่แพ้ต้นตำรับจากไต้หวันจนได้รับความนิยม ลองชิมชากลิ่นหอมและซื้อเป็นของฝากได้

7. วนอุทยานภูชี้ฟ้า
วนอุทยานภูชี้ฟ้า เป็นจุดชมวิวทะเลหมอกและพระอาทิตย์ขึ้นสุดฮอตของจังหวัดเชียงราย อยู่ห่างจากดอยผาตั้ง 25 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นยอดเขาที่แหลมชี้ขึ้นไปบนท้องฟ้า อยู่สูงจากระดับทะเลประมาณ 1,628 เมตร โดยมีหน้าผาเป็นแนวยาวยื่นไปทางฝั่งประเทศลาว บนยอดภูชี้ฟ้าเป็นทุ่งหญ้ากว้าง ในฤดูหนาวจะมีทิวทัศน์สวยงามเป็นพิเศษ นักท่องเที่ยวส่วนมากจะมาค้างแรมบริเวณบ้านร่มฟ้าทองทาง ซึ่งห่างจากจุดชมวิวประมาณ 1.5 กิโลเมตร แล้วจะเดินขึ้นภูชี้ฟ้าเพื่อไปชมวิวตอนเช้ามืด ระหว่างทางจะพบแปลงปลูกป่านางพญาเสือออกดอกบานสะพรั่งสวยงาม (เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์) และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ต้นเสี้ยวดอกขาวรอบภูชี้ฟ้าจะออกดอกบานเต็มเชิงเขา

8. ดอยผาตั้ง
ดอยผาตั้ง ตั้งอยู่ใกล้ทางหลวงหมายเลข 1093 กิโลเมตรที่ 89 เป็นจุดชมวิวไทย-ลาว มีความสูง 1,635 เมตร และเที่ยวชมทะเลหมอกได้ตลอดปี ซึ่งในเดือนธันวาคมถึงมกราคมมีดอกซากุระบาน และเดือนกุมภาพันธ์ก็จะมีดอกเสี้ยวบานสะพรั่งงดงาม นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวจีนฮ่อ ม้ง และเย้า โดยเฉพาะจีนฮ่อนั้น อดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของกองพล 93 ซึ่งอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ดอยผาตั้งนี้ ปัจจุบันประกอบอาชีพทางการเกษตร ปลูกพืชเมืองหนาว เช่น บ๊วย ท้อ สาลี่ แอปเปิล และชา

9. ถนนคนเดินเชียงราย+ถนนคนม่วนเชียงราย
จังหวัดเชียงราย ร่วมกับ เทศบาลนครเชียงราย จัดโครงการถนนคนเดินเชียงราย “กาดเจียงฮายรำลึก” เชิญชวนนักท่องเที่ยวและประชาชนร่วมสัมผัสวิถีชีวิตแบบล้านนาในอดีต ที่แสดงออกถึงวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และสินค้าของดีของเชียงราย โดยจะจัดขึ้นทุกวันเสาร์ของเดือน ณ ถนนธนาลัย ตั้งแต่สี่แยกสำนักงานยาสูบฯ ไปจนถึงสี่แยกธนาคารออมสิน ขณะที่ทุกวันอาทิตย์ของเดือนจะมี “ถนนคนม่วนเชียงราย” ซึ่งอยู่บนถนนสันโค้งน้อย บริเวณการจัดงานแบ่งเป็นหลาย ๆ ส่วน โดยมีกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายร่วมกันจัดแสดงกิจกรรมมากมายตลอดเส้นทาง

10. วัดพระแก้ว
วัดพระแก้ว ตั้งอยู่บริเวณถนนไตรรัตน์ ตำบลเวียง อำเภอเมือง เป็นวัดที่ค้นพบ พระแก้วมรกต หรือ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระแก้ว กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ตามประวัติเล่าว่าเมื่อ พ.ศ. 1897 ในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่นั้น ฟ้าได้ผ่าเจดีย์ร้างองค์หนึ่งและได้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทองอยู่ภายในเจดีย์ จึงได้นำไปไว้ในวิหาร ต่อมาปูนบริเวณพระนาสิกเกิดกะเทาะออกมาจึงได้พบว่าเป็นพระพุทธรูปสีเขียวสร้างด้วยหยก คือ พระแก้วมรกต นั่นเอง

11. สวนรุกขชาติดอยช้างมูบ
ช้างมูบ เป็นชื่อดอยที่สูงที่สุดของเทือกเขานางนอน คือ ประมาณ 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีอากาศเย็นสดชื่นตลอดปี พื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นดงฝิ่นที่ใหญ่ที่สุด และเป็นการเส้นทางลำเลียงยาเสพติดหลักในภูมิภาค สภาพป่าจึงถูกทำลายจนหมดสิ้น ต่อมาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระราชประสงค์ให้ฟื้นฟูผืนป่าแถบนี้ให้อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง โครงการพัฒนาดอยตุงฯ จึงพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสวนรุกขชาติ รวบรวมพรรณไม้พื้นเมืองและพรรณไม้ป่าหายาก กุหลาบพันปีจากหลายประเทศ ต้นนางพญาเสือโคร่ง กล้วยไม้พื้นเมือง รองเท้านารี ฯลฯ ปลูกอยู่ในสวนอย่างเป็นธรรมชาติกลางป่าสน มีเส้นทางการเดินลัดเลาะตามไหล่เขา มีลานสำหรับพักผ่อน ชมทิวทัศน์ได้รอบตัว แลเห็นได้ถึงประเทศเพื่อนบ้าน และลำน้ำโขง

12. อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช
ตั้งอยู่ที่ห้าแยกพ่อขุน อำเภอเมือง เส้นทางที่จะไปอำเภอแม่จันหรือแม่สาย สำหรับพ่อขุนเม็งรายเป็นกษัตริย์องค์ที่ 25 แห่งราชวงศ์ลัวะจังคราช เป็นโอรสของพญาลาวเม็ง และพระนางเทพคำขยาย หรือพระนางอั้วมิ่งจอมเมือง ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ แรม 9 ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุน พุทธศักราช 1782 เสด็จสวรรคตที่เมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ.1854 พ่อขุนเม็งรายได้สร้างเมืองเชียงรายขึ้นบนดอยทอง จากรากฐานเดิมที่เคยเป็นเมืองมาก่อน เมื่อ พ.ศ.1805 ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ แห่งราชวงศ์เม็งราย และรวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยเข้าเป็นอาณาจักรล้านนาไทยจนเจริญรุ่งเรืองถึงปัจจุบัน

โดยประชาชนชาวเชียงรายร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณของพ่อขุนเม็งราย ปั้นโดย นายปกรณ์ เล็กฮอน และทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2507 สำหรับลักษณะของอนุสาวรีย์ คือ เป็นพระรูปของพระองค์หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ขนาดเท่าครึ่ง ทรงฉลองพระองค์ด้วยเครื่องทรงพระมหากษัตริย์ล้านนาโบราณ ประทับยืนบนฐานสูงประมาณ 3 เมตร ทรงถือดาบด้วยพระหัตถ์ซ้ายแนบกับพระเพลา ทรงสวมมาลัยพระกร ทรงสวมธำมรงค์ที่พระหัตถ์ขวาตรงนิ้วนางและนิ้วก้อย ที่พระหัตถ์ซ้ายตรงนิ้วชี้ และทรงฉลองพระบาท ปัจจุบันมีตุงหลวงเฉลิมพระเกียรติประดับอยู่ทางด้านหลังอนุสาวรีย์ด้วย และที่ตรงฐานใต้พระบรมรูปมีคำจารึกว่า "พ่อขุนเม็งรายมหาราช พ.ศ. 1782-1860 ทรงสร้างเมืองเชียงรายขึ้นเป็นเมืองแรกเมื่อ พ.ศ. 1805 ทรงสถาปนาอาณาจักรล้านนาไทยให้เป็นปึกแผ่น และทรงสร้างความสามัคคีระหว่างชนชาติไทย"

ทั้งนี้ กู่พระเจ้าเม็งราย ตั้งอยู่หน้าวัดงำเมือง บนดอยงำเมือง กู่นี้เป็นอนุสาวรีย์สำคัญแห่งหนึ่ง เพราะเป็นที่บรรจุอัฐิของพ่อขุนเม็งรายมหาราช ตามประวัติกล่าวว่า พระเจ้าไชยสงคราม ราชโอรสพระเจ้าเม็งราย เมื่อได้มอบราชสมบัติให้พระเจ้าแสนภูราชโอรสขึ้นครองนครเชียงใหม่แล้ว พระองค์ได้นำอัฐิพระราชบิดามาประทับอยู่ที่เมืองเชียงราย และได้โปรดเกล้าฯ สร้างกู่บรรจุอัฐิของพระราชบิดาไว้ ณ ดอยงำเมืองแห่งนี้

13. พิพิธภัณฑ์บ้านดำ
พิพิธภัณฑ์บ้านดำ ตั้งอยู่ที่ตำบลนางแล อำเภอเมือง สร้างขึ้นโดย อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี นับเป็นแหล่งเรียนรู้อันทรงคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมแบบร่วมสมัย ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น โดยภายในบ้านมีสิ่งก่อสร้าง ทั้งวิหาร บ้าน ศาลา ห้องแสดงผลงาน ฯลฯ รวมทั้งสิ้น 43 สิ่งก่อสร้าง เช่น วิหารเล็ก, มหาวิหาร (อาคารพิพิธภัณฑ์ศิลปะ), บ้านสามเหลี่ยม (ที่พักรับรองนักเขียน ลูกศิษย์ และห้องทำงาน), เรือนผกายแก้ว, เรือนเชียงทองทาทาบรุ้ง, อูปปรภพ (ห้องจิตวิญญาณ) และบ้านดำแกลลอรี่ (ศูนย์ข้อมูลและร้านจำหน่ายของที่ระลึก)

14. ดอยหัวแม่คำ
ดอยหัวแม่คำ อยู่สูงจากระดับทะเล 1,850 เมตร เป็นที่ตั้งหมู่บ้านชาวเขาขนาดใหญ่ ประกอบด้วยเผ่าลีซอ เป็นกลุ่มชนส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีอีก้อ ม้ง และมูเซอ ในช่วงเวลาซึ่งตรงกับตรุษจีนของทุกปี ชาวลีซอจะจัดงานประเพณีกินวอ ซึ่งเปรียบเสมือนวันขึ้นปีใหม่ ในวันนั้นชาวลีซอแต่งกายสวยงาม มีการกินเลี้ยง เต้นระบำ 7 วัน 7 คืน และในเดือนพฤศจิกายนเป็นช่วงที่ดอยหัวแม่คำงดงามไปด้วย “ดอกบัวตอง” สีเหลืองสดใสสะพรั่งอยู่ทั่วไปตามแนวเขา เป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอก

15. ล่องแม่น้ำกก
แม่น้ำกก เป็นแม่น้ำที่ไหลมาจากบ้านท่าตอนผ่านตัวเมืองเชียงราย มีความยาวรวมทั้งสิ้น 130 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเรือจากท่าเรือริมแม่น้ำในตัวเมือง (ท่าเรือซีอาร์) เพื่อเที่ยวชมทัศนียภาพของแม่น้ำกก สองฟากฝั่งเป็นป่าเขาที่สวยงามตามธรรมชาติ นอกจากนี้ ระหว่างทางยังสามารถแวะชมหมู่บ้านชาวเขาเผ่าต่าง ๆ เช่น อีก้อ ลีซอ หรือจะแวะบ้านกะเหรี่ยงรวมมิตรเพื่อนั่งช้างเที่ยวป่ารอบบริเวณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น